คนไข้สอนหมอ

คนไข้สอนหมอ

คนไข้ยุคโบราณ กระทั่งคนจีน หรือคนเอเชียตะวันออกมีเจตคติเกี่ยวกับการยอมรับนับถือผู้มีอาชีพเป็นแพทย์หรือหมอคล้ายๆ กัน คนไทยสมัยก่อนมักจะเรียกผู้ที่มีความรู้ ผู้ที่ให้คำปรึกษา เป็นที่พึ่งพาของเขา ว่า “หมอ” ซึ่งยังรวมถึงการเรียกหมอดู หมอความ หมอผี หมอตำแย ไม่เฉพาะเรียกหมอที่รักษาผู้ป่วยเท่านั้น

นักเรียนแพทย์หรือแพทย์ที่ฝึกหัดรักษาโรคต่างๆ มักได้รับการสั่งให้เป็นผู้ให้ความรู้ (Educator) และผู้ที่ให้คำปรึกษา (Counceller)ซึ่งแทบจะเป็นงานRoutine ที่แพทย์ต้องให้คำแนะนำ คำปรึกษา ไม่เพียงเฉพาะเรื่องของอาการ ตัวโรค การรักษา การดูแลตัวเอง แต่บางครั้งอาจต้องลงไปถึงเรื่องสภาพจิตใจ เรื่องในครอบครัว เรื่องความเครียดที่รบกวนจิตใจ การพูดคุยเรื่องครอบครัวหรือเรื่องการงานกับผู้ป่วยจะทำให้แพทย์ได้ค้นพบความจริงหรือข้อมูลบางอย่างที่อาจจะนำไปสู่ความเข้าใจในตัวผู้ป่วยและอาจนำไปสู่การดูแลรักษาโรคให้ดีขึ้นกว่าเดิม

เมื่อไม่นานมานี้ มีโอกาสได้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งผู้ชายท่านหนึ่ง ซึ่งย้ายโรงพยาบาลมาแล้ว 2 โรงก่อนนี้ จะมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ สอบถามจากลูกสาวก็ได้รับคำบ่นมากมายในเชิงตำหนิโรงพยาบาลก่อนหน้า รวมถึงไม่พอใจแนวทางในการรักษาของโรงพยาบาลที่ผ่านมา ทำนองว่าทำให้เจ็บตัวโดยไม่จำเป็น.. หลังจากได้มีโอกาสดูแลอยู่ 2-3 วัน ก็ได้ค้นพบว่าผู้ป่วยมีลูก 11 คน แต่เป็นลูกที่มาจากภรรยา 3 คน ความขัดแย้งระหว่างลูกในแต่ละบ้านมากกว่าที่เป็นสาเหตุนำไปสู่ความไม่พอใจโรงพยาบาลหรือการรักษา ลูกบ้านนี้อยากให้รักษาที่นี่ ลูกอีกบ้านหนึ่งก็บอกว่าไม่ดีอยากให้ย้ายโรงพยาบาล ในที่สุด ภาระก็ตกมาที่ผมนี่เอง ซึ่งเมื่อได้ปรับความเข้าใจ คือให้ลูกๆ ได้เข้าใจข้อมูลสภาพความเป็นจริง และชี้ให้เห็นการพยากรณ์โรค ( จะอยู่หรือจะเสียชีวิตกันอย่างไร ) ในที่สุดครอบครัว ( ทั้ง 3 ) ก็ตัดสินใจนำผู้ป่วยไปดูแลที่บ้าน ซึ่งบางครั้งก็มิได้ต่างอะไรกับการนอนอยู่ในโรงพยาบาลเลย

หมอสอนคนไข้เสียจนชิน บางครั้งก็เผลอมองคนไข้เป็นเด็กเป็นเล็กไปหมด การพูดจากับคนไข้ที่อาวุโสกว่าบางครั้งจึงออกมาเหมือนหมอพูดจาไม่ดี ซึ่งบางทีอาจเกิดจากการที่หมอชอบคิดว่าต้องสอน ต้องเตือน อยู่ตลอดเวลานั่นเอง

แต่คนไข้คนหนึ่งที่สอนผม !!

ผมเรียกแกว่า “พี่เล็ก” เป็นคนไข้มะเร็งตับ ซึ่งอยู่กับมะเร็งมากว่า 14 ปี มาพบผมในเช้าวันหนึ่งเมื่อประมาณ 5 ปี เจอกันเป็นพักๆ 2-3 เดือนครั้ง สนิทสนมกันจนเรียกคนไข้ว่าพี่ พี่เล็กมักจะแซวผมเสมอว่า ให้หาเวลาไปพักบ้างและแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวโดยเฉพาะในเมืองจีนให้ผมไปบ่อยๆ (แต่ผมไม่มีโอกาสไปสักที) เวลาที่มะเร็งที่พี่เค้าเป็นกลับมาหรือก้อนมีขนาดโตขึ้นทีไร ผมเองอาจจะออกอาการกังวลจนกระทั่งบางที พี่เล็กจะคอยบอกผมว่า “หมออย่าเครียดนะ” พี่เล็กมักชวนเรียกภรรยาคู่ใจ (ซึ่งจะมาพบผมพร้อมกันทั้งสองคนตลอดระยะเวลา 5 ปี) ว่า “พี่เลี้ยง” พี่เลี้ยงหาโน้นหานี่มาให้ทาน พี่เลี้ยงห้ามทานเนื้อซึ่งเป็นของโปรด แรกผมเองไม่ได้เอะใจว่าทำไมถึงเรียกว่า “พี่เลี้ยง” แต่ในที่สุดวันหนึ่งก็ได้เข้าใจ พี่เล็กบอกว่า ตัวเองเปรียบเสมือนนักมวยที่ขึ้นชกกับคู่ชกซึ่งก็คือ มะเร็งที่เป็นอยู่นั่นเอง เราเคยต่อสู้กับมันและชนะมันมาโดยตลอด ไฟล์ทหลังๆ คู่ชกก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ กว่าที่จะเอาชนะได้ก็เล่นเอาเหนื่อยเจียนตาย ภรรยาของพี่เล็กก็เป็นเหมือนพี่เลี้ยง หลังๆ นักมวยไม่อยากชกแล้ว แต่พี่เลี้ยงก็จับขึ้นเวทีชกต่อ พี่เล็กยังพูดอย่างขำๆ ว่า บอกให้พี่เลี้ยงโยนผ้าขาวเพื่อยอมแพ้แล้วแต่พี่เลี้ยงก็ไม่ยอม พี่เล็กบอกผมว่าไม่เป็นไรหมอ “ผมยังสู้ได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ หมอเห็นว่านักมวยหมดสภาพที่จะชกต่อไปก็ให้จับแพ้ได้นะ จะได้หยุดชก ดีกว่าแพ้น๊อกคาเวที”

รศ.นพ. คมกริช ฐานิสโร

Contact : Tumorrow.com
FaceBook : Tumorrow

Share Facebook

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *